สารคดีเด็กขอทาน ชุด "ผู้ใหญ่รังแกเด็ก"
โดย: วรวลัญช์ เด่นปรีชากุล
ภาพโดย: Dream Studio Thailand
ที่ปรึกษา: ณัฐพล สงวนทรัพย์ (พี่อ้น)



“ เด็กน่าสงสาร ถูกผู้ใหญ่ (แย่ๆ) ใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน...ทางการควรจัดการให้เด็ดขาด ไม่น่าจะปล่อยให้มีปรากฏอีก มันสะท้อนถึงความหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างแรง “ ความคิดเห็นของอาจารย์ชุติมา ที่เห็นภาพเด็กที่ผมโพสต์ลงใน Facebook
“ หนูไม่รู้ ไม่รู้ ” เสียงตอบรับจากเด็กคนหนึ่งด้วยความเขินอาย ใบหน้าที่หมองคล้ำพร้อมกับรอยยิ้มจากฟันที่มีสีขาวปนเหลือง มันช่างตัดกับสีผิวของน้องชายคนนี้เหลือเกิน
ก่อนหน้านั้น ตอนเช้าของวันเด็กในวันเสาร ์ที่ 12 มกราคม พ.ศ.2556 ซึ่งบังเอิญตรงกับช่วงวันหยุดตลอดการสอบซ่อมของภาคเรียนที่ 1 สำหรับนักศึกษารามที่อยู่ต่างจังหวัดอย่างผม ถ้าจะให้อยู่แต่ในห้องพัก ช่างเป็นชีวิตประจำวันที่แสนน่าเบื่อ ผมจึงตัดสินใจออกไปเที่ยวในวันเด็ก
ผมนั่งรถแท็กซี่จากหน้าราม ไปยังห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่อยู่ในจังหวัดนนทบุรี ในขณะที่ผมอยู่ในรถ ผมได้มองออกไปรอบๆกระจกรถ แอร์เย็นฉ่ำ มีเสียงเพลงเบาเบา พร้อมกับน้ำหอมติดรถที่มีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ทำให้พาเพลินตลอดการเดินทางมันช่างมีความสุขกว่าที่อยู่ในห้องที่เงียบเหงาเสียจริง
ผมเห็นเด็กเยาวชนมากมาย บ้างก็เดินกับพ่อแม่ บางคนเดินคนเดียว บางคนเดินเป็นกลุ่มเพื่อนด้วยกัน บ้างก็เหมารถกันไปเป็นคณะ เพื่อมาเที่ยวงานวันเด็ก
สีหน้าของเด็กโดยส่วนใหญ่ต่างพากันยิ้มแย้มแจ่มใส ดูมีความสุข บางคนครวญครางร้องไห้ อ้อนวอนพ่อแม่จะเอาของเล่นที่ขาย วันนี้คงเป็นอีกวันที่พ่อแม่หนักใจ
เมื่อมาถึงห้าง ทันทีที่เปิดประตูรถ อุณหภูมิอากาศข้างนอกในช่วงเที่ยงช่างร้อนอบอ้าว ความรู้สึกในตอนนั้นผมไม่มีความคิดที่จะลงจากรถ แต่ก็ต้องลงเพราะค่าแท็กซี่เริ่มแพงขึ้นทุกๆวินาที
ผมเดินในห้างอย่างมีความสุข ขณะเดิน บางทีผมเผลอคิดถึงพ่อกับแม่ที่ไม่เคยมาเที่ยวในห้างด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่เหมือนครอบครัวที่กำลังเห็น ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวทำงานกันทั้งหมด เลยไม่มีโอกาสมาหวานมาสวีทเหมือนครอบครัวทั่วไป
ผมเดินออกจากห้าง พร้อมกับความอิ่ม ด้วยโดนัทและกาแฟที่แสนอร่อย ผมเดินขึ้นสะพานลอยข้ามไปอีกฝั่งเพื่อจะนั่งรถแท็กซี่กลับมายังห้องพัก
ร่่างกายเริ่มอ่อนล้า ผมเดินขึ้นสะพานลอยทีละก้าวทีละก้าว จนมาถึงทางเดินบนสะพานลอย ผมเห็นเด็กชายคนหนึ่ง ถือแก้วน้ำใบใหญ่สีขาวซึ่งเป็นแก้วใส่น้ำอัดลมของร้านแห่งหนึ่งในห้าง
ในแก้วมีเหรียญบาท เหรียญห้า เหรียญสิบ และธนบัตรใบยี่สิบคละกัน ใบหน้าเลอะ แลดูหมองคล้ำ ดูเหมือนสีหน้าไม่มีความสุขเลย
ผมก้าวเท้าไปอย่างช้าๆ และหยุดตรงหน้าของเด็กชายคนนั้น เด็กชายมองหน้าผม และยิ้มแบบเขินอายแบบไร้เดียงสา รอยยิ้มจากฟันที่มีสีขาวปนเหลือง ผมใส่เงินลงไปในแก้วน้ำที่เด็กชายถือ ทันทีที่เหรียญลงไป มือเล็กๆของเด็กประกบกันสองข้าง เด็กไหว้ผมอย่างสวยงามแต่สายตาของเขาไม่มองหน้าผม เขากลับมองไปยังที่เท้าของผมแทน
ผมไม่ได้เดินจากเด็กไป ผมนั่งยองๆและถามชื่อของเด็ก เขาเขินและอาย และตอบว่า “ไม่รู้ ไม่รู้” ถามว่า อยู่ที่ไหน “ไม่รู้” เด็กชายตอบผมอย่างไร้เดียงสา ทันใดนั้นมีผู้หญิงผมหยิกยาวคนหนึ่งเดินมาและเขาได้จูงงมือพาเด็กคนนั้นลงไปจากสะพานลอย ผมเดินตามเขาทั้งสองลงไปอย่างห่างๆ
เขาทั้งสองลงไปนั่งใต้สะพาน ผมเลยถือโอกาสเข้าไปถามผู้หญิงที่อยู่กับเด็กทันที ทราบเรื่องเขาคือแม่ของเด็กคนนี้
เขาเป็นคนเขมร พักอยู่แถวบางกะปิ เข้ามาในกรุงเทพเพื่อมาขอทานโดยเฉพาะ ฟังดูเหมือนเขาเอาเปรียบประชาชนมาก เขาขโมยความสงสารไปจากผมและคนอื่นอีกหลายคนที่เห็น เขาขโมยความสุขของลูกตัวเองไป ผมรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับร่างหญิงแก่คนนี้มาก
เด็กชายไม่ได้ร่วมงานวันเด็กเหมือนเด็กคนอื่นๆ ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เขานั่งทำงานในวันเด็กเพียงอายุแค่ 4 ปี เศษๆเอง เด็กน่าสงสารมาก ตากแดดจนผิวแห้งกร้าน ถูกผู้ใหญ่ที่ไม่มีความคิด โง่ดักดาน ฉลาดในทางที่ผิด ไม่ทำงานทำการ ใช้เด็กชายเป็นเครื่องมือทำมาหากิน
ดูเหมือนมือ เท้าและร่างกายหญิงสาวมีครบสามสิบสองนะ ไม่น่าจะเอาลูกตัวเองมาขอทานแบบนี้ อีกอย่างไม่ใช่มีเพียงประเทศเพื่อนบ้านเราเท่านั้น คนไทยเราก็มีขอทานมากเหมือนกัน ปัญหานี้มีมากมายจนเกลื่อนเมือง แทบจะมีทั่วในประเทศไทยของเราเลยก็ได้ พฤติกรรมแบบนี้มันสะท้อนถึงความหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง ทางการควรทำอย่างไร เพื่อให้สังคมไทยไม่มีคนขอทาน มีชีวิตที่ดี อยู่อย่างพอดี ตามรอยพระบาทของในหลวงของเราสักที